การเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้ามกันไปได้ง่าย ๆ ส่วนใหญ่แล้วมักจะแบกความรู้ความเชื่อเก่า ๆ มาใช้ตัดสินทุกสิ่งทุกอย่าง ร่างกายของคนเราก็เหมือนจิตใจนั่นแหละ มันสั่งสมความคุ้นชินมาจากประสบการณ์เก่าหรือไม่ก็จากการขาดการออกกำลังกาย เวลาเราเรียนรู้สิ่งใหม่ คนเราชอบเปรียบเทียบและคิดไปเองว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ทั้ง ๆ ที่ยังไม่สามารถจะเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นอย่างไร ครูสอนชี่กงผมบอกว่า เรามักจะชอบตีความแล้วก็รีบสรุป ผมเก็ทแล้ว!!! หัวใจหลักอยู่ที่การฟังอย่างเงียบงันโดยที่ไม่ยอมให้เสียงความคิดภายในเซ็งแซ่ นี่คือแก่นของเรื่องถ้วยชาในนิทานเซ็น เพราะชาปริ่มถ้วยก็ไม่อาจจะรับสิ่งใหม่ได้
หลักการฝึกฝนของวิชาไท่จี๋เฉวียน มักจะถูกอธิบายแค่คำเดียวง่าย ๆ เช่น ไท่จี๋คือกลมกลืน หรือไม่ก็สมดุลย์ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่มันเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น มีหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้อีกมากมาย
ไท๋จี๋ไม่ใช่เรื่องของทวิภาวะ ขาวกับดำ แต่มันเป็นเรื่องของเอกภาวะ ความเป็นหนึ่งเดียว การหลอมรวม การผสานสู่ การไม่แบ่งแยก เริ่มต้นเพียงแค่นี้บางคนก็งงเสียแล้ว เหมือนคำที่พระเยซูคริสต์กล่าว "จงรักศัตรูของคุณ" หรือ "จงเปิดประตูให้กับโจร" ไท่จี๋คือสิ่งที่ตรงข้ามกับความเข้าใจของคนทั่วไป อ่อนชนะแข็ง นิ่งสยบเคลื่อนไหว ความอ่อนหรือแข็งเป็นคุณสมบัติของสิ่งเดียวกัน นิ่งหรือเคลื่อนไหวก็เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นไปได้อย่างไรที่สองสิ่งซึ่งดูเหมือนแตกต่างกันแบบสุดขั้ว กลายเป็นสิ่งที่เสริมหรือดูแลซึ่งกันและกัน มันเป็นถ้อยคำหรู ๆ ที่ใช้ไม่ได้จริงหรือเปล่า
ผมอยากจะกล่าวว่าเป็นเพราะว่าเราได้ละเลยความเป็นหนึ่งเดียว พวกเราจึงเลือกที่ทำสงครามแทนที่จะเป็นการอยู่กับสันติภาพ มีคำกล่าวที่ว่าเลือดไม่อาจล้างด้วยเลือด แต่คนส่วนใหญ่กลับเชื่อว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้จากการทำสงคราม มันดูเป็นเรื่องพิลึกที่เราจะไปถึงสันติด้วยการฝึกวิชาต่อสู้ ถึงแม้ว่าวิชาศิลปะป้องกันตัวของพลเมืองนั้นแตกต่างจากของทหาร แต่ส่วนใหญ่แล้วมักไม่เข้าใจเรื่องนี้ การฝึกฝนตนเองกลายเป็นเรื่องสำคัญรองจากการฝึกเทคนิคการปล่อยหมัดมวยสุดเท่ห์*
ทวิภาวะ คือการแบ่งแยก และจัดประเภท อะไรบางอย่างออกเป็นสองอย่างที่แตกต่างกันแบบสุดขั้ว
เอกภาวะ คือหลักการที่ปฏิเสธทวิภาวะ หรือการแบ่งแยกเป็นสอง เช่น จิตและวัตถุ หรือ พระเจ้ากับมนุษย์**
ในชี่กง ซึ่งคือแหล่งต้นพลังงานของไท่จี๋ กล่าวไว้ว่า จิตนำกาย ไท่จี๋ เป็นวิชาที่ถูกคิดค้นโดยบัณฑิต เป็นผลิตผลทางปัญญาไม่ใช่การใช้แต่กำลังทื่อ ๆ ดังนั้นไม่ใช่บรรลุผล แต่ต้องบรรลุผลโดยง่ายดายด้วย
ท่านเจิ้ง มั่นชิง เคยกล่าวว่า การที่ผู้ฝึกฝนไท่จี๋ ไม่อาจพัฒนาไปถึงความก้าวหน้าได้นั้นเป็นเพราะ พวกเขาไม่ใส่ใจหลักพื้นฐาน*** นั่นหมายถึงว่าแรกเริ่มเลยเราจะต้องเข้าใจวิธีการฝึก ต้องฝึกฝนอย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอจนกระทั่งบรรลุความสำเร็จ ความเข้าใจนี้มาจากไหน มาจากการใส่ใจสังเกตในสิ่งที่อาจารย์ชี้แนะ หมั่นถามคำถาม ถ้าเราไม่สามารถประเมินตัวเองได้ เราจะพัฒนาได้อย่างไร เราไม่ได้กำลังฝึกความชำนาญ แต่เรากำลังฝึกท่วงท่าซ้ำ ๆ เหมือนกับคนไม่มีสมอง ทำไปโดยปราศจากความคิด ความสามารถที่จะเห็นข้อผิดพลาดของตนเอง คือจุดเริ่มต้นของการแก้ไข ข้อผิดพลาดที่เราเห็นจะละเอียดขึ้นและมองเห็นได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ การขัดเกลาเป็นเรื่องที่ต้องทำในเวลาต่อมา
*วิชามวยของชาวบ้านเขาไว้ฝึกเพื่อป้องกันตัว เพื่อระงับเหตุร้าย แต่วิชามวยของฝ่ายทหารมีไว้เพื่อรบเพื่อการฆ่า มันต่างกัน ดังนั้นมวยจีนทั่วไปเมื่อไปสู่กับมวยไทยจึงมักแพ้ เพราะมวยไทยสร้างมาเพื่อการรบ แต่มวยจีนส่วนใหญ่สร้างมาเพื่อฝึกตน ดังนั้นถ้าเราจะฝึกมวย ก็ถามตัวเองว่าเราต้องการแบบไหน (-- comment จากอาจารย์ Xiao Liyan)
**พระเจ้ากับมนุษย์คือหนึ่งเดียว แต่เรากลับเล่นบทของพระเจ้าไม่ค่อยเก่งนัก คนเรามักจะชอบไขว่คว้าหารูปเคารพเพื่อจะชื่นชมบูชา และให้ยกเป็นตัวแทนของพระเจ้าซึ่งสมบูรณ์แบบอย่างไร้ที่ติ นั่นเป็นเรื่องเก่า ใบหน้าของพระเจ้าเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แต่ธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่เคยเปลี่ยน
***มีหลายวิธีในการทำอะไรบางอย่าง แต่การยึดอยู่กับเส้นทางที่เลือกแล้วเป็นวิธีที่ดีที่สุด แน่นอนมันต้องการสมาธิ ความอดทน ความอึด ที่จะพาตนไปถึงฝั่งได้
จากเพจ Tai Chi for Health
แปลโดย ภินท์ ภารดาม